วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระปิดตา

พระปิดตา หรือ พระมหากัจจายน์ ,พระสังกัจจายน์ หรือพระภควัมบดี คำว่า "ภควัมบดี" หรือ "ภควัมปติ" แปลว่า "ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า" อันเป็นอีกนามหนึ่งของพระมหากัจจายน์ หนึ่งในพระสาวกผู้ทรงเอกทัคคะ (เป็นเลิศ) ๘๐ รูป ของพระพุทธองค์
พระมหากัจจายน์ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ณ กรุงอุชเชนี มีผิวกายประหนึ่งทองคำมาตั้งแต่กำเนิด จึงได้นามว่า "กาญจน" และได้อุปสมบท โดยเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทำการบวชให้) ด้วยความที่ท่าน เป็นผู้ที่มีผิวพรรณวรรณะงดงาม ตามพระบาลีว่า "สุวณฺโณจวณฺณํ" คือมีผิวเหลืองดั่งทองคำ เป็นที่เสน่หานิยมรักใคร่แก่พุทธบริษัท ทั้งชายหญิง มิว่าท่านจะไปในสถานที่แห่งใด เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ต่างก็พากันสรรเสริญว่า ท่านคือ พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้ว

ด้วยความงดงามแห่งรูปกายนี้เอง เป็นสาเหตุให้เกิดความหลงใหล คลั่งไคล้จากฝูงชน ทั้งชายหญิง จนเกิดเรื่องพิพาทกัน ไม่รู้จักหมดจักสิ้น ทำให้พระมหาสังกัจจายนะ เกิดสลดสังเวชในใจ พิเคราะห์ดูว่าการมีรูปกายงดงาม ทำให้พุทธบริษัทต้องเดือดร้อน ก่อให้เกิดทุกข์มากมาย ท่านจึงตั้งสมาธิอธิษฐานเปลี่ยนสรีระรูปร่าง กลายเป็นร่างต่ำเตี้ย พระอุทรพลุ้ย ศีรษะใหญ่ ขาสั้น
แม้จะอธิษฐานเปลี่ยนสรีระแล้ว ผลแห่งกุศลในอดีตชาติ ยังส่งให้พระสังกัจจายน์เป็นที่รักใคร่นิยมยินดี มีแต่ผู้ให้ลาภสักการะสรรเสริญ ตลอดมามิได้ขาด จนได้รับการรับรองจากพระพุทธองค์ว่า ท่านเป็นพระสาวก ผู้มีความเป็นเลิศทางโภคทรัพย์ และ ลาภสักการะ เสมอกันกับพระสิวลี แม้พระองค์จะต้องนำพาคณะสงฆ์ ไปในถิ่นอันทุรกันดารเมื่อใด ก็จะมีรับสั่งให้นิมนต์พระสังกัจจายน์ หรือ พระสิวลี รูปใดรูปหนึ่งตามไปกับหมู่คณะด้วย ก็จะมีญาติโยมมาถวายภัตตาหาร และ เครื่องสักการะต่าง ๆ จนมีเหลือเฟือ มิให้คณะสงฆ์ต้องลำบากเลย

นอกจากนั้น ท่านยังได้รับคำชม จากพระบรมศาสดาว่า พระสังกัจจายน์นั้นเป็นเอตทัคคะล้ำเลิศในการอธิบายความ แห่งคำที่ย่อลงแล้วได้อย่างพิสดาร ด้วยปัญญาอันชาญฉลาดล้ำเลิศ ของพระสังกัจจายน์นั่นเอง
ส่วนที่มีการทำ พระสังกัจจายน์เป็นรูปปิดทวารทั้ง 9 นั้น ก็คือมือคู่หนึ่งปิดหน้า คือปิดตา 2 ข้าง + ปิดจมูก 2 + ปิดปาก 1 + มืออีกคู่หนึ่งปิดที่หู 2 ข้าง + ส่วนอีกมือคู่หนึ่งนั้นปิดที่ทวารล่างทั้ง 2 รวมเป็นปิดทวารทั้งเก้า เป็นอุปเท่ห์หมายถึง ตอนที่พระภควัมบดีท่านกำลังเข้านิโรธสมบัติ ทวารทั้งเก้าก็จะปิดสนิท ไม่ยินดียินร้ายกับกิเลสทั้งหลาย เป็นความดับสนิท ของอาสวะกิเลสต่างๆ ที่ไม่อาจจะมาแผ้วพานได้เลย
จากมูลเหตุนี้เอง คณาจารย์ต่างๆ ท่านจึงสร้างรูปเคารพพระสังกัจจายน์ เป็นรูปพระปิดตา และโดยส่วนใหญ่ ก็จะปลุกเสกให้เด่นไปทาง เมตตามหานิยม โชคลาภโภคทรัพย์ ส่วน
พระปิดตามหาอุตม์ เป็นนัยแห่งการป้องกัน สรรพอันตรายทั้งหลายทั้งปวง


คาถาบูชาพระปิดตา (พระสังกัจจายน์ ,พระภควัมบดี )

ธัมมะจักกัง ปะทังสุตวา พุทชิตวา อมตังปะทัง สันติเก อะระหาโลเก โลกานัง หิตะการะนา ภันเต คะวัมปะติ นามะ ติสุโลเก สุปากะโต พรหมะปุตโต มะหาเถโร อะระโหเชฎถะโก มุนิ นัตถิเถโร สะโมอินทะ คันทัพพา อะสุระเทวา สักโก พรหมาภิปูชิโต
นะโมพุทธธัสสะ คะวัมปะติสสะ
นะโมธรรมมัสสะ คะวัมปะติสสะ
นะโมสังฆัสสะ คะวัมปะติสสะ
สุขา สุขะ วะรัง ธัมมัง ธัมมะ จักกัง ปะวะรัง นิฏฐิตัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น