วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระสิงห์ ,พระพุทธสิหิงค์

พระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ คือพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ได้มีปรากฏบันทึกไว้ในชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าได้สร้างขึ้นตามคติของพุทธศาสนา แบบเถรวาทสายลังกาวงศ์ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ โดยพระเจ้าสีฬหะ แห่งลังกาทวีป โดยได้ร่วมพระทัยพร้อมกับพระอรหันต์ ด้วยหมายจะให้ได้พุทธลักษณะที่ตรงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง ๆ ถึงกับต้องอัญเชิญพญานาคที่เคยพบพระพุทธเจ้า มาแปลงร่างให้ดูเป็นต้นแบบในการปั้นหุ่นในครั้งนั้น


องค์พระพุทธสิหิงค์ที่สร้างขึ้นมีพุทธลักษณะที่งดงามมาก เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาปสาทะแก่ผู้ที่ได้พบเห็นให้ได้บังเกิดความเลื่อมใสเคารพบูชา จนพระโพธิรังสี ผู้รจนาตำนานพระพุทธสิหิงค์ ถึงกับได้กล่าวไว้ว่า

" พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด ก็เหมือนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นั้น "

" พระพุทธสิหิงค์เมื่อประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์ชีพ "

" พระพุทธสิหิงค์หามีชีวิตได้ก็จริง แต่มีอิทธานุภาพ ด้วยเหตุสามประการคือ ศาสนะพละของพระพุทธเจ้า , อธิษฐานพละ ของพระอรหันต์ และ อธิษฐานพละ ของพระเจ้าลังกา "

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระพุทธสิหิงค์ก็ได้ถูกอัญเชิญมาพร้อมกับพระไตรปิฏกจากลังกา โดยกษัตริย์ผู้ครองนครศรีธรรมราช และก็ได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย , กรุงศรีอยุธยา , กำแพงเพชร , เชียงราย , เชียงใหม่ ตามลำดับ จนมาถึงในรัชสมัยของพระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์ล้านนาที่มีพระราชภาระกิจในการไปปกครองล้านช้าง จึงได้อัญเชิญจากเชียงใหม่ไปประดิษฐาน ณ ล้านช้าง ( หลวงพระบาง ) ด้วย ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้อัญเชิญเสด็จกลับมาประดิษฐาน ณ กรุงศรีอยุธยา ในวัดพระศรีสรรเพชญ จนเมื่อครั้งเสียกรุง จึงได้ถูกพม่าอัญเชิญมาไว้ที่เชียงใหม่อีกครั้ง จนล่วงเลยมาถึงในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทได้โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในกรุงรัตนโกสินทร์

ปัจจุบัน พระพุทธสิหิงค์พระองค์นี้ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โดยในวันสงกรานต์ของทุกปี ได้มีการอัญเชิญเสด็จออกมาให้ประชาชนได้เคารพบูชาและสรงน้ำตามประเพณีเพื่อความเป็นศิริมงคล

ด้วยพุทธลักษณะอันงดงามจนยากที่จะหาพระพุทธรูปองค์อื่น มาเทียบเทียม เว้นเสียแต่พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก

และความศรัทธาในพุทธานุภาพ จนพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ได้บันทึกไว้ว่า

" ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจ ท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ถ้าได้มาจุดธูปเทียนบูชา และ นั่งนิ่ง ๆ มององค์พระสัก ๑๐ นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะ จะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีความหวัง "

คาถาบูชาพระพุทธสิหิงค์

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
(นำ) หันทะ มะยัง พุทธะปะสังสา คาถาโย พุทธะสิงหิงโค นามะ.........ภะณามะ เส.
(รับ) อิติ ปะวะระสิหิงโค อุตตะมะยะโสปิ เตโช.........ยัตถะ กัตถะ จิตโตโส สักกาโร อุปาโท.........สะกาละพุทธะสาสะนัง โชตะยันโตวะ ทีโป.........สุระนะเรหิ มะหิโต ธะระมาโนวะ พุทโธติ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น