วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระอุปคุต , พระบัวเข็ม


พระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม ท่านเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธานุภาพมาก ที่ปรากฏตัวขึ้นในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อมารับหน้าที่คุ้มครองบริเวณพิธี ที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฏก จากการถูกรังควานจากพญามาร เชื่อกันว่าพระอุปคุตท่านเข้านิโรธสมาบัติอยู่ที่สะดือทะเล เมื่อในสมัยที่พระเจ้าอโศก ทรงโปรดให้มีการชำระพระศาสนา ด้วยเกรงจะมีความวิปลาสคลาดเคลื่อนในธรรมะ ( ที่อาศัยการท่องจำสืบต่อกันมา หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ) จึงโปรดให้อัญเชิญพระอรหันต์เถระชั้นผู้ใหญ่ ให้มาชุมนุมกันเพื่อตรวจทานและทำการจดบันทึก เรียบเรียงพระธรรมคำสอนออกเป็นหมวดหมู่ ที่เรียกว่าการสังคายนาพระไตรปิฏก ในขณะนั้นพญามารต้องการจะมาขัดขวางจึงได้มาแสดงฤทธิ์ เพื่อรบกวนไม่ให้สังคายนาได้สำเร็จ ด้วยเกรงว่าศาสนาพุทธจะเจริญรุ่งเรือง แล้วความชั่วร้ายก็จะอ่อนกำลังลง ณ ขณะนั้นเอง ในหมู่พระเถระที่มาร่วมพิธีก็ไม่มีรูปใดที่มีฤทธิ์มากพอที่จะต้านพญามารไว้ได้ จึงได้ประชุมกันเพื่อหาวิธีแก้ไข
จึงได้มีเณรน้อยรูปหนึ่งเตือนความจำทุกคนว่า ยังมีพระอรหันต์อีกรูปหนึ่งมีนามว่าพระอุปคุตเข้าสมาบัติอยู่ใต้ทะเล จึงได้ไปอัญเชิญท่านมาคุ้มครองพิธีนี้
เมื่อพระอุปคุตมาถึง จึงได้แสดงฤทธิ์เสกหมาเน่าไปแขวนคอพญามารไว้ให้ได้รับความอับอาย แม้จะไปหาทวยเทพ หรือแม้แต่พระพรหมผู้ที่ฤทธิ์มาก ก็ไม่อาจปลดหมาเน่าลงมาได้ จนพิธีผ่านพ้นไป พญามารได้สำนึกผิดแล้ว พระอุปคุตท่านจึงได้แสดงธรรมโปรดจนพญามารกลับใจตั้งจิตปรารถนาพุทธภูมิ จึงได้ปลดหมาเน่าลงมา
พุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสในองค์พระอุปคุต จึงนิยมที่จะสร้างรูปของท่านเป็นพระอรหันต์ที่นั่งบนดอกบัว หรือมีใบบัวปิดศรีษะ และมีรูปกุ้งหอยปูปลาอยู่ที่ฐาน นิยมแกะด้วยไม้โพธิ์ตายพรายที่ถูกฟ้าผ่าที่ชี้ไปทางทิศตะวันออก และยังนิยมฝังพระธาตุหรือตะกรุด ไว้ตามข้อต่อขององค์พระอีก ๙ จุด แล้วลงรัก ปิดทอง เป็นที่มาของอีกนามหนึ่งของท่านว่า พระบัวเข็ม
นอกจากนี้ท่านยังเป็นต้นกำเนิดของการตักบาตรเที่ยงคืน ในวัน " เป็งพุธ " ( วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ ) โดยเชื่อกันว่าในคืนวันเป็งพุธ พระอุปคุตท่านจะแปลงกายเป็นสามเณร ออกมาโปรดญาติโยม ผู้ที่โชคดีได้ใส่บาตรท่านในวันดังกล่าว จะประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต อุดมไปด้วยโภคทรัพย์ทั้งปวง จนกลายเป็นประเพณีนิยมกันในพม่า และ บางจังหวัดทางภาคเหนือของไทย

คาถาบูชาพระอุปคุต
อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร สัมพุทเธนะ วิยากะโต มารัญจะ มาระพะลัญจะ โส อิทานิ มะหาเถโร นะมัสสิตะวา ปะติฎฐิโต อะหัง วันทามิ อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะ มาหาเถรัง ยัง ยัง อุปัททะวัง ชาตัง วิธัง เสติ อะเสสะโต มะหาลาภัง ภะวันตุเม ฯ

(อธิษฐานบูชาพระอุปคุตเพื่อ คุ้มกันภยันตราย จาก ภัยพิบัติทั้งปวง และอธิษฐานขอลาภ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น