วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552

พระสังกัจจายน์

ประวัติโดยย่อของพระสังกัจจายน์ สามารถอ่านได้ในหน้า " พระปิดตา " ในที่นี้จักได้ขยายความเพิ่มเติมจากส่วนก่อนดังนี้
๑.เรื่องการอธิษฐานแปลงรูปของพระสังกัจจายน์
จาก (อรรถกถาธรรมบท) ได้มีเรื่องราวดังนี้ว่า ได้มีบุตรเศรษฐีท่านหนึ่งแห่งเมืองโสเรยยนคร ขื่อ “โสเรยยะ” วันหนึ่งได้เห็น พระสังกัจจายน์ผู้มีรูปงามดุจทองคำ ก็เกิดจิตปฏิพัทธ์หลงใหลรูปกายอันงดงามงามของท่าน จึงคิดอกุศลจิตกำหนดให้ท่านเป็นหญิง แล้วลวนลามทางจิตด้วยความคึกคะนอง ด้วยจิตทีคิดพิเรนทร์ต่อพระอรหันต์สังกัจจายน์มหาเถระเจ้า บุตรเศรษฐีโสเรยยะที่เป็นชาย ก็ได้กลับกลายเป็นเพศหญิง มีอวัยวะของสตรีครบสมบูรณ์ประหนึ่งหญิงแท้ ๆ ด้วยความอับอาย บุตรเศรษฐีโสเรยยะ จึงได้หนีไปอยู่เมืองอื่น จนได้สามีและมีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาภายหลังได้จึงได้กลับมาขอขมาท่านสังกัจจายน์มหาเถระเจ้า จึงได้กลับรูปเป็น ชายตามเดิม แม้แต่อุบาสิกาที่เป็นหญิง ก็มีไม่น้อยที่หลงไหลในรูปกายอันงดงามของท่าน จนเกิดทะเลาะวิวาทเป็นเนือง ๆ จึงเป็นเหตุให้พระสังกัจจายน์ ต้องตัดสินใจอธิษฐานเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นรูปอ้วนพุงพลุ้ย แต่เปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตา
๒.พระสังกัจจายน์ - ทรงเป็นภิกษุที่อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
เดิมท่านเป็นบุตรพราหมณ์ปุโรหิต กัจจายนโคตร ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี เมื่อเจริญวัยขึ้นได้เรียนจบไตรเพท ครั้นบิดาเสียชีวิตแล้ว ก็ได้รับตำแหน่ง ปุโรหิตแทนบิดา
กาลต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงทราบว่า ได้บังเกิดพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า ขึ้นในโลกแล้ว และเสด็จไปสั่งสอนพระธรรมอันล้ำค่าแก่ประชาชน ธรรมที่พระองค์สั่งสอนนั้นเป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์ให้สำเร็จ แก่ผู้ประพฤติปฎิบัติตาม จึงทรงมีพระราชประสงค์จะเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดา ไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงรับสั่งให้ กัจจายนะปุโรหิต ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เรียนจบไตรเพท ไปทูลเชิญเสด็จ ท่านกัจจายนะปุโรหิต ซึ่งมีความศรัทธาในศาสนาพุทธอยู่เป็นทุนเดิม จึงถือโอกาสทูลลาบวชด้วย ครั้นได้พระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกจากกรุงอุชเชนี พร้อมด้วยบริวาร 7 คน รอนแรมมาถึงยังที่ประทับของพระบรมศาสดา ก็พากันเข้าเฝ้า ฟังพระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาสั่งสอน ในที่สุดทั้ง ท่านกัจจายนะ และบริวารทั้ง 7 ก็ได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมกัน แล้วจึงทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดา ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ท่านพระสังกัจจายน์มหาเถระ จึงทูลเชิญอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เสด็จโปรด ชาวอุชเชนี ตามพระประสงค์ของ พระเจ้าจัณฑปัชโชต พระบรมศาสดารับสั่งว่า" ท่านไปเองเถิด เมื่อไปแล้ว พระจัณฑปัชโชต และชาวเมืองจะเลื่อมใส " ด้วยเหตุนี้ พระสังกัจจายน์มหาเถระ จึงถวายบังคมลาเดินทางกลับ สู่กรุงอุชเชนี แล้วจึงได้บรรยายธรรมประกาศพระพุทธศาสนาให้ พระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาวเมืองเกิดความเลื่อมใส ปวารณาตัวเป็นพุทธมามกะ แล้วกลับคืนมายังสำนักพระบรมศาสดา สมดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้ทุกประการ
๓.พระสังกัจจายน์ -ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอกทัคคะในการขยายความธรรมมะ
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตร แต่โดยย่อท่ามกลางคณะสงฆ์ โดยแสดงธรรมว่า
" ผู้มีปัญญาไม่ควรคิดตาม คิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ,ไม่ควรจะมุ่งหาสิ่งที่ยังมาไม่ถึง , เพราะว่าสิ่งที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละเสียแล้ว , สิ่งใดยังมาไม่ถึง สิ่งนั้นก็ไม่ได้ไม่ถึง, ผู้ใดเห็นแจ้งธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าในที่นั้น ๆ ในกาลนั้น ๆ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ครั้งรู้ธรรมนั้นแล้ว พึงให้ธรรมนั้นเจริญเนือง ๆ ความเพียรควรทำเสียในวันนี้แล ใครเล่าจะพึงรู้ว่า ความตายจักมีต่อพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนต่อมัจจุราชที่มีเสนาใหญ่นั้นไม่มีเลย ผู้รู้ที่เป็นคนสงบระงับ ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ เรียกว่า ผู้มีราตรีเดียว"
ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เสด็จลุกไปสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายไม่เข้าใจ และไม่มีโอกาสที่จะทูลถาม ความที่พระองค์ตรัสโดยย่อ นั้นให้กว้างขวางได้ จึงอาราธนาขอให้ พระสังกัจจายน์อธิบายให้ฟัง
ในกาลนั้นพระสังกัจจายน์ท่านอธิบายความว่า "ท่านผู้มีอายุ เรารู้ความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อนั้นตามความพิสดารว่า เมื่อบุคคลคิดว่า ในกาลล่วงแล้ว ตากับรูป ,หูกับเสียง, จมูกกับกลิ่น, ลิ้นกับรส, กายกับสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย ,ใจกับอารมณ์ที่เกิดกับใจของเรามีแล้วอย่างนั้น ความกำหนัดพอใจในสิ่งเหล่านั้นก็ผูกพันวิญญาณ เพราะวิญญาณ อันความกำหนัดพอใจ ผูกพันแล้ว ผู้นั้นก็เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ ,ผู้ที่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่า คิดตามถึงสิ่งทึ่ล่วงมาแล้ว "
"ไม่คิดอย่างนั้นความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ก็ไม่ผูกพันวิญญาณได้ , ผู้นั้นก็ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ , ผู้ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่า ไม่คิดตามถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว"
"บุคคล ผู้ตั้งจิตไว้เพื่อหมายจะได้ ในสิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วว่า ในกาลไกลข้างหน้า นัยน์ตากับรูป เป็นต้น ของเราจะเป็นอย่างนี้ ,เพราะความตั้งจิตอย่างนั้นเป็นปัจจัย ,ผู้นั้นก็เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ , ผู้ที่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่า มุ่งหมาย สิ่งที่ยังมาไม่ถึง "
"บุคคลผู้ไม่ได้ตั้งจิตเพื่อจะหมายสิ่งใด สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วอย่างนั้น ก็ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ ,ผู้ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่า ไม่มุ่งหมายสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล้ว"
"นัยน์ตากับรูปอย่างละสองอันใด เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ,ถ้าว่าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ผูกพันวิญญาณไว้แล้ว , บุคคลก็เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ , ผู้เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่า ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดเฉพาะหน้า "
"ถ้าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ไม่ผูกพันวิญญาณได้ ,บุคคลก็ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่า ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า "
"ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจในเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ตามความพิสดารอย่างนี้ , ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ก็จงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามความนั้นเถิด พระองค์ทรงเล่าอย่างไร จงจำไว้อย่างนั้นเถิด " ภิกษุเหล่านั้น ได้พากันลา พระสังกัจจายน์ มาเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลความนั้นให้ทรงทราบ พระองค์จึงทรงตรัสสรรเสริญ พระสังกัจจายน์ ว่า "ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นผู้มีปัญญา , ถ้าท่านถามความนั้นกับเรา แม้เราก็คงเล่าเหมือนกัจจายนะ เล่าอย่างนั้น ความของธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้น อย่างนั้นแล ท่านทั้งปวงจำไว้เถิด " ด้วยเหตุนี้เอง ท่านจึงได้รับ การยกย่องจากพระศาสดาว่า พระสังกัจจายน์ ทรงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย เป็นเอกทัคคะในการอธิบายความย่อให้พิสดาร
๔.พระสังกัจจายน์ ทูลขอพุทธานุญาต ให้แก้ไขพระธรรมวินัย
พระสังกัจจายน์
ผู้ทรงปัญญาและมีความกล้าหาญ - ธรรมวินัยใด ที่ขัดต่อภูมิประเทศ ไม่สะดวกที่สงฆ์จะปฏิบัติตาม ได้ยังความลำบากแก่การปฏิบัติแล้ว ท่านก็จะทูลชี้แจง ขอพุทธานุญาต ให้แก้ไขให้เหมาะสม ให้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ
เช่นครั้งหนึ่งท่านไปพำนักแสวงหาวิเวกอยู่ ณ. ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุธฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท อุบาสกผู้เป็นอุปัฎฐากของท่านคนหนึ่ง ชื่อว่า โสณกุฎิกัณณะ มีความประสงค์จะบวชในธรรมวินัย แต่ก็ยังบวชไม่ได้ ได้แต่เพียงแต่บรรพชาเป็นสามเณรเท่านั้น เวลาล่วงไปถึง 3 ปี จึงมีโอกาสอุปสมบทได้ เพราะในอวันตีทักขิณาปถชนบทนั้น หาภิกษุเป็นคณะครบองค์ไม่ได้ (10 รูปขึ้นไป)
เมื่อท่านโสณกุฏิกัณณะอุปสมบทแล้ว มีความปรารถนาจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาพระสังกัจจายน์ ผู้อุปัชฌาย์ ท่านจึงอนุญาตแล้ว สั่งให้ไปถวายบังคมพระบาทตามคำของท่าน โดยให้ทูลขอให้พระพุทธองค์องค์ ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ซึ่งขัดต่ออวันตีชนบท 5 ข้อ ด้วยกันคือ
๑.ในอวันตีทักขิณาปถชนบทมีภิกษุน้อย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะน้อยกว่า 10 รูป ซึ่งก็ได้รับการอนุญาตให้เหลือเพียง 5 รูป
๒.เนื่องด้วยในชนบททั่วไป มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ไม่สะดวกต่อการเดินทาง ,พระภิกษุในชนบทได้รับความลำบากมากนัก ขอพุทธานุญาตให้ภิกษุใส่รองเท้าเป็นชั้น ๆ ในชนบทชายแดนได้ พระองค์ก็ทรงอนุญาต
๓.พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขออนุญาตพระภิกษุอาบน้ำเป็นนิตย์เถิด พระองค์ก็ทรงอนุญาติ
๔.ในชนบทนั้นมีเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังแพะ หนังแกะบริบูรณ์ดีในชนบทหาได้ง่ายกว่าอย่างอื่น ขอให้ภิกษุใช้หนังแพะ หนังแกะเป็นเครื่องลาดได้ในชนบท พระองค์ก็ทรงอนุญาตตามนั้น
๕.ในการที่มนุษย์ถวายผ้าจีวรแก่ภิกษุก็เช่นกัน เมื่อภิกษุไม่อยู่เขามาถวายฝากไว้ เมื่อเธอกลับมา ภิกษุที่ รับฝากไว้แจ้งให้เธอทราบ เธอรังเกียจไม่ยินดีรับ เพราะล่วง 10 ราตรีแล้ว เข้าใจว่าเป็นอาบัตินิสสัคคิยะ จำต้องสละผ้านั้น เป็นการลำบากสำหรับชนบท พระองค์ก็ทรงอนุญาตว่า เราอนุญาต ให้พระภิกษุรับผ้าที่เขาถวายลับหลังได้ ผ้ายังไม่ถึงมือเธอเมื่อใด จะถือว่าเธอมีสิทธิ์เต็มที่ไม่ได้ตราบนั้น

๕. พระสังกัจจายน์ - เรื่องความเสมอภาคแห่งวรรณะทั้ง ๔
เมื่อครั้ง พระสังกัจจายน์อยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร เสด็จไปหา แล้วตรัสว่า " ข้าแต่ท่าน พระกัจจายนะ ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ถือว่า พวกเขาเป็นผู้ประเสริฐบริสุทธิ์เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร ? "
พระสังกัจจายน์ ทูลตอบว่า วรรณะสี่เหล่าไม่ต่างกันดังนี้
"ในวรรณะสี่ เหล่านี้ วรรณะเหล่าใดเป็นผู้มั่งคั่ง ไม่ว่าวรรณะเดียวกันหรือวรรณะอื่น ย่อมเข้าเป็นสาวกของวรรรณะนั้น ,
วรรณะใดประพฤติ อกุศลกรรมบท เบี้องหน้าแต่มรณะ วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่ อบาย เสมอกันหมด ไม่มีพิเศษ,
วรรณะใดประพฤติ กุศลกรรมบท เบื้องหน้าแต่มรณะ วรรณะนั้นย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ เหมือนกันหมด,
วรรณะใดทำ โจรกรรม ประพฤติล่วงเมียคนอื่น วรรณะนั้นต้องรับ อาชญา เหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น,
วรรณะใด ออกบวช ตั้งอยู่ในศีลธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับ ความนับถือ และได้รับ บำรุงและได้รับ คุ้มครองรักษาเสมอ กันหมดฯ "
ครั้นพระเจ้ามธุรราช ได้สดับแล้วก็เกิดความเลื่อมใส แสดงองค์เป็นอุบาสก ถึงพระเถระเจ้า กับ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ , พระเถระทูลห้ามว่า อย่าถึงท่านเป็นสรณะเลย , จงถึงพระผู้มีพระภาคผู้เป็นสรณะ ของอาตมาภาพ เป็นสรณะเถิด.
พระเจ้ามธุรราช ตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด ,พระสังกัจจายน์ท่านทูลว่า พระผู้มีพระภาพเจ้า ปรินิพพานเสียแล้ว ,พระเจ้ามธุรราชตรัสว่า ถ้าพระองค์ได้ทรงสดับว่า พระผู้มีพระภาพเจ้าประทับอยู่ที่ใด แม้ใกล้ไกลเท่าใด พระองค์คงจักเสด็จไปเฝ้าให้จงได้, แต่เมื่อพระผู้มีพระภาพเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว , ข้าพระองค์ ขอถือพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานไปแล้วกับ พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง .

พระมหากัจจายน์ หรือพระสังกัจจายน์ ท่านเป็นผู้มีบุญญาบารมีอภินิหาร ทรงมีอานุภาพทางเมตตามหานิยมเป็นที่รักใคร่แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย โบราณจารย์ท่านให้สวดคาถาบูชาระลึกถึงบารมีคุณของพระสังกัจจายน์ทุก ๆ วัน จะเกิดสิริมงคล เป็นที่รักใคร่แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีโชคลาภอยู่เสมอมิได้ขาด มีความสุขเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์และทรัพย์สมบัติทั้งปวง จึงได้อัญเชิญพระคาถาบูชาพระสังกัจจายน์มาดังนี้
กัจจายนะจะ มหาเถโร พุทโธ พุทธานัง
พุทธะตัง พุทธัญจะ พุทธะสุภา สิตัง
พุทธะตัง สะมะนุปปัตโต พุทธะโชตัง นะมามิหัง
ปิโยเทวะ มะนุสสานัง ปิโยพรหม นะมุตตะโม
ปิโยนาคะ สุปันนานัง ปิยินทะริยัง นะมามิหัง
สัพเพชะนา พะหูชะนา ปุริโสชะนา อิถีชะนา
ราชาภาคินี จิตตัง อาคัจฉาหิ ปิยังมะมะ ฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น