วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

GABA RICE

GABA RICE ( GERMINATED PURPLE RICE DRINK POWDER ) CONTAINS PROTEINS , VITAMINS, MINERALS,DIETARY FIBERS AND GAMMA-AMINO BUTYRIC ACID (GABA)WHICH HAS BEEN WIDELY ACCEPTED AND USED
FOR TREATMENT OF MANY NEUROLOGICAL DISORDERS SUCH AS DEPRESSION , INSOMNIA, ANXIETY,EPILEPSY,AUTONOMIC DISORDERS OBSERVED DURING THE MENOPAUSE AND ETC.IT'S ALSO PREVENT INDIVIDUALS FROM ALZHEIMER'S DISEASE AND STIMULATES THE ANTERIOR PITUITARY GLAND TO SECREDE GROWTH HORMONE ,WHICH BUILDS UP BONE CELLS,TISSUESAND MUSCLE MASSES AND HELPS IN BURNING OFF FATS AS WELL . FOR MORE INFORMATION PLS. VISIT OUR SITE .

วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ASIAMULET

SELL BUDDHA IMAGE , BUDDHA AMULET , AMULET ,GOOD LUCK CHARM
(FOR BRINGING GOOD LUCK , PROTECTION ,FRIENDSHIP ETC.) , JEWELRY
LOOSE STONE,ACCESSORY , ANTIQUE .
WE'LL TRY OUR BEST FOR YOUR SATISFACTION .
E-MAIL : asiamulet@gmail.com , chenxiang989@gmail.com


วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระเครื่องเอเซีย

ให้บูชาพระเครื่อง, เครื่องรางของขลัง , วัตถุมงคล ต่าง ๆ เช่น พระกริ่ง, พระปิดตา , ตะกรุด . เครื่องประดับต่าง ๆ ทั้งแบบโบราณและทันสมัย ทั้งเงินและทอง ,ของโบราณ,พลอยคัด เป็นต้น

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ไฉ่ซิงเอี้ย - ท้าวเวสสุวรรณ หรือ เทพเจ้าแห่งโภคทรัพย์


ท้าวเวสสุวรรณ , ไฉ่ซิงเอี้ย หรือเทพเจ้าแห่งโภคทรัพย์ ตามที่มีการบันทึกในอีกตำนานหนึ่ง ตามคติทางจีน ไฉ่ซิงเอี้ย หรือ ท้าวเวสสุวรรณท่านเป็นเทพเจ้าของลัทธิเต๋าองค์หนึ่ง ที่มีหน้าที่ดูแลกิจการค้าขาย และ โภคทรัพย์ทั้งหลาย รวมไปถึงทรัพย์ในดินทั้งหมด จึงทำให้พ่อค้าทั้งหลายให้ความเคารพนับถือมาก ถึงกับมีการสร้างศาลเจ้าของท่าน โดยเฉพาะในหมู่บ้าน หรือในเมืองที่กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง เพราะท่านขึ้นชื่อในเรื่องการพิทักษ์ความยุติธรรม และ ความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมาในการทำการค้า

เดิมท่านมีชื่อว่า " จ้าวกงหมิง " ในระหว่างที่มีชีวิตได้มาปฏิบัติธรรมในถ้ำแห่งหนึ่ง ที่ภูเขาเอ๋อเหมย ( สำนักง่อไบ๊ ) จนในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นเซียนที่นี่ ต่อมาในภายหลังเมื่อท่านละสังขารแล้ว จึงได้รับการอวยยศจากเง็กเซียนฮ่องเต้ ให้เป็นไฉ่ซิงเอี้ย

ลักษณะพิเศษของท่านคือ รูปร่างล่ำสันแข็งแรง มีใบหน้าดำเสมือนก้นหม้อ คิ้วชี้ ตาโปน มือหนึ่งถือแส้เหล็ก อีกมือหนึ่งถือทองแท่ง ( เป็นนัยยะแห่งการลงทัณฑ์เมื่อคดโกง และ ให้รางวัลเมื่อซื่อสัตย์สุจริต แก่ผู้ที่ทำการค้า ) ทรงพาหนะคือเสือดำ ในบางครั้งจะมีกระรอกแห่งโภคทรัพย์อยู่ข้างกาย ว่ากันว่าท่านเป็นเทพที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถเรียกลมเรียกฝน บันดาลฟ้าผ่า ก่อโรคระบาด ควบคุมภัยธรรมชาติทั้งหลาย ทั้งยังสามารถดลบันดาลให้ผู้ที่เคารพนับถือท่าน ได้ประโยชน์จากการค้าที่ซื่อสัตย์สุจริต นำความร่ำรวย โชคลาภ และศิริมงคลมาสู่สานุศิษย์ ต่อมาในภายหลัง นอกจากขอเรื่องโชคลาภเงินทองแล้ว ก็ยังมีการไปอธิษฐานขอลูกขอหลาน ขอความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากท่านอีกด้วย

ปัจจุบัน จะมีการทำการบูชาไฉ่ซิงเอี้ยในวันขึ้นปีใหม่ ( ตรุษจีน ) ของทุกปี โดยจะมีการคำนวนตามตำราโบราณ ถึงทิศ และ เวลา ที่ไฉ่ซิงเอี้ยจะเสด็จมา เมื่อถึงวันนั้น ลูกหลานจีนก็จะจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ โดยตั้งโต๊ะให้หันไปในทิศที่ท่านจะมาแล้วทำการสักการะ และ อธิษฐานขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล และ ความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต

วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เจ้าแม่กวนอิม - พระอวโลกเตศวรโพธิสัตว์


เจ้าแม่กวนอิม , พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ , หรือในนามบาลี " Avalokitesvara " , หรือในชื่อภาษาจีนกลางว่า" กวนซื่ออินผู๋ซ่ะ " ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่เปี่ยมไปด้วยมหาเมตตาคุณ , มหากรุณาธิคุณ , มหาปัญญาคุณ และทรงมีฤทธานุภาพอย่างสุดที่เปรียบประมาณ

พระนามของเจ้าแม่กวนอิมยังมีความหมายในอีกนัยหนึ่งว่า ทรงเป็น " ผู้สดับตรับฟัง เสียง ( จากความทุกข์ยาก ) ของมหาสรรพสัตว์ อันไม่มีประมาณ " เพื่อจะเสด็จมาช่วยให้สรรพสัตว์นั้นให้พ้นไปเสียจากความทุกข์

พระนามของท่านแท้จริงแล้วมีนัยยะที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น คือเป็นการให้สติเตือนใจแก่พุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาในพระองค์ท่าน ให้ละทิ้งการรับฟังเสียงแห่งความทุกข์ยากแต่เพียงภายนอก (เสียงสรรเสริญเยินยอ หรือนินทาว่าร้าย อันมากระทบกับอายตนะ ทำให้เกิดความรัก ความเกลียด ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นบ่อเกิดแห่งสรรพกิเลสทั้งปวง ) แต่ให้หันมาดำรงสติภายใน สดับตรับฟัง " เสียง "

จากภายในที่ไม่อาจใช้แต่เพียงอายตนะหยาบมา "ฟัง " , แต่ให้สดับตรับฟัง "เสียง " แห่งความทุกข์ยากจากสรรพสัตว์ อันดังกึกก้องอยุ่ในความเงียบ เมื่อดำรงสติรับ"ฟัง" ย่อมไม่หวั่นไหวไปตามแรงกระทบ จากสิ่งยั่วยุในทางโลก ก็จะไม่เกิดกิเลส ไม่มีความหวั่นไหว อันเป็น มรรคาแห่งความหลุดพ้น

ในทำนองเดียวกัน ผัสสะที่เกิดขึ้นในอายตนะอื่น ก็จะเห็นว่า แท้จริงแล้ว เป็นเพียงความ"ว่าง" ทั้งสิ้น เมื่อพุทธศาสนนนิกชนผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้ตระหนักรู้ดังนี้ ก็จะมีจิตใจที่กว้างขวาง ไม่มีแบ่งแยก " เรา , ของเรา " "เขา ,ของเขา " "บุคคล ตัวตน คน สัตว์ สิ่งของ " จะทำให้จิตใจกว้างขวาง เป็นธรรมชาติ เป็น ความว่าง ก็จะบังเกิดมหาปัญญา มหาเมตตา มหากรุณา ต่อสรรพสัตว์ ตั้งจิตที่จะทำประโยชน์ให้แก่สาธารณะ ปราศจากความเห็นแก่ตัว ก็จะสามารถปฏิบัติภาระกิจในการช่วยเหลือสรรพสัตว์จากความทุกข์ยาก อันเป็นมหาปณิธานของพระโพธิสัตว์ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าแม่กวนอิมเป็นพระโพธิสัตว์ที่ ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ลูกหลานชาวจีน บางท่านถึงกับปฏิญาณ ที่จะถือศีลกินเจตลอดชีวิต หรือเป็นช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาพระองค์ ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าผู้ใดที่ได้รับความทุกข์ยากในชีวิต ไม่ว่าจะทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม หรือแม้แต่ผู้ปฏิบัติที่มุ่งมั่นจะมีความเจริญในทางธรรม ก็จะไม่ลังเลเลย ที่จะออกพระนามของเจ้าแม่กวนอิมในการสวดมนต์ ด้วยความศรัทธา แล้วพระองค์ท่านก็จะมาช่วยเหลือให้พ้นภัย หรือให้สำเร็จสมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนาได้

คาถาบูชาเจ้าแม่กวนอิม บทสั้น ได้แก่ คาถาหกอักษร , ส่วนบทยาว ได้แก่ ปรัชญาปารมิตตามหาหฤทัยสูตร
คาถาหกอักษร โอม มา ณี ปัท เม หุม

พระปิดตา

พระปิดตา หรือ พระมหากัจจายน์ ,พระสังกัจจายน์ หรือพระภควัมบดี คำว่า "ภควัมบดี" หรือ "ภควัมปติ" แปลว่า "ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า" อันเป็นอีกนามหนึ่งของพระมหากัจจายน์ หนึ่งในพระสาวกผู้ทรงเอกทัคคะ (เป็นเลิศ) ๘๐ รูป ของพระพุทธองค์
พระมหากัจจายน์ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ณ กรุงอุชเชนี มีผิวกายประหนึ่งทองคำมาตั้งแต่กำเนิด จึงได้นามว่า "กาญจน" และได้อุปสมบท โดยเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทำการบวชให้) ด้วยความที่ท่าน เป็นผู้ที่มีผิวพรรณวรรณะงดงาม ตามพระบาลีว่า "สุวณฺโณจวณฺณํ" คือมีผิวเหลืองดั่งทองคำ เป็นที่เสน่หานิยมรักใคร่แก่พุทธบริษัท ทั้งชายหญิง มิว่าท่านจะไปในสถานที่แห่งใด เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ต่างก็พากันสรรเสริญว่า ท่านคือ พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้ว

ด้วยความงดงามแห่งรูปกายนี้เอง เป็นสาเหตุให้เกิดความหลงใหล คลั่งไคล้จากฝูงชน ทั้งชายหญิง จนเกิดเรื่องพิพาทกัน ไม่รู้จักหมดจักสิ้น ทำให้พระมหาสังกัจจายนะ เกิดสลดสังเวชในใจ พิเคราะห์ดูว่าการมีรูปกายงดงาม ทำให้พุทธบริษัทต้องเดือดร้อน ก่อให้เกิดทุกข์มากมาย ท่านจึงตั้งสมาธิอธิษฐานเปลี่ยนสรีระรูปร่าง กลายเป็นร่างต่ำเตี้ย พระอุทรพลุ้ย ศีรษะใหญ่ ขาสั้น
แม้จะอธิษฐานเปลี่ยนสรีระแล้ว ผลแห่งกุศลในอดีตชาติ ยังส่งให้พระสังกัจจายน์เป็นที่รักใคร่นิยมยินดี มีแต่ผู้ให้ลาภสักการะสรรเสริญ ตลอดมามิได้ขาด จนได้รับการรับรองจากพระพุทธองค์ว่า ท่านเป็นพระสาวก ผู้มีความเป็นเลิศทางโภคทรัพย์ และ ลาภสักการะ เสมอกันกับพระสิวลี แม้พระองค์จะต้องนำพาคณะสงฆ์ ไปในถิ่นอันทุรกันดารเมื่อใด ก็จะมีรับสั่งให้นิมนต์พระสังกัจจายน์ หรือ พระสิวลี รูปใดรูปหนึ่งตามไปกับหมู่คณะด้วย ก็จะมีญาติโยมมาถวายภัตตาหาร และ เครื่องสักการะต่าง ๆ จนมีเหลือเฟือ มิให้คณะสงฆ์ต้องลำบากเลย

นอกจากนั้น ท่านยังได้รับคำชม จากพระบรมศาสดาว่า พระสังกัจจายน์นั้นเป็นเอตทัคคะล้ำเลิศในการอธิบายความ แห่งคำที่ย่อลงแล้วได้อย่างพิสดาร ด้วยปัญญาอันชาญฉลาดล้ำเลิศ ของพระสังกัจจายน์นั่นเอง
ส่วนที่มีการทำ พระสังกัจจายน์เป็นรูปปิดทวารทั้ง 9 นั้น ก็คือมือคู่หนึ่งปิดหน้า คือปิดตา 2 ข้าง + ปิดจมูก 2 + ปิดปาก 1 + มืออีกคู่หนึ่งปิดที่หู 2 ข้าง + ส่วนอีกมือคู่หนึ่งนั้นปิดที่ทวารล่างทั้ง 2 รวมเป็นปิดทวารทั้งเก้า เป็นอุปเท่ห์หมายถึง ตอนที่พระภควัมบดีท่านกำลังเข้านิโรธสมบัติ ทวารทั้งเก้าก็จะปิดสนิท ไม่ยินดียินร้ายกับกิเลสทั้งหลาย เป็นความดับสนิท ของอาสวะกิเลสต่างๆ ที่ไม่อาจจะมาแผ้วพานได้เลย
จากมูลเหตุนี้เอง คณาจารย์ต่างๆ ท่านจึงสร้างรูปเคารพพระสังกัจจายน์ เป็นรูปพระปิดตา และโดยส่วนใหญ่ ก็จะปลุกเสกให้เด่นไปทาง เมตตามหานิยม โชคลาภโภคทรัพย์ ส่วน
พระปิดตามหาอุตม์ เป็นนัยแห่งการป้องกัน สรรพอันตรายทั้งหลายทั้งปวง


คาถาบูชาพระปิดตา (พระสังกัจจายน์ ,พระภควัมบดี )

ธัมมะจักกัง ปะทังสุตวา พุทชิตวา อมตังปะทัง สันติเก อะระหาโลเก โลกานัง หิตะการะนา ภันเต คะวัมปะติ นามะ ติสุโลเก สุปากะโต พรหมะปุตโต มะหาเถโร อะระโหเชฎถะโก มุนิ นัตถิเถโร สะโมอินทะ คันทัพพา อะสุระเทวา สักโก พรหมาภิปูชิโต
นะโมพุทธธัสสะ คะวัมปะติสสะ
นะโมธรรมมัสสะ คะวัมปะติสสะ
นะโมสังฆัสสะ คะวัมปะติสสะ
สุขา สุขะ วะรัง ธัมมัง ธัมมะ จักกัง ปะวะรัง นิฏฐิตัง

วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระพิฆเนศวร์ - พระคเนศวร์


พระพิฆเนศวร์ หรือ พระคเนศวร์ ผู้เป็นเทพแห่งความสำเร็จ และเป็นเทพแห่งการขจัดอุปสรรคทั้งมวล ทรงเป็นเทพที่มีความสำคัญ ได้รับการเคารพบูชาอย่างแพร่หลาย ในหมู่คนทุกเชื้อชาติ ศาสนา ทุกสาขาอาชีพ ทั้ง ในพิธีทางศาสนาพุทธ และ ศาสนาพราหมณ์ ทั้งชนชั้นปกครอง พ่อค้า ข้าราชการ นักแสดง หรือแม้แต่ในดินแดนล้านนา ก็ยังมีการประดิษฐานรูปบูชาขององค์พระพิฆเนศวร์ ไว้หน้าประตูทางเข้าวัดวาอาราม ปะรำพิธีต่าง ๆ โดยนัยยะแห่งการประสิทธิ์ประสาทความสำเร็จ ขจัดซึ่งอุปสรรคขัดข้องในการประกอบกิจการงาน และ พิธีกรรมทางศาสนา ด้วยเคารพในปัญญาความเฉลียวฉลาด ความกล้าหาญ ความกตัญญู ความสามารถ ฤทธานุภาพของพระองค์ และความสามารถทางศิลปวิทยาการ ไปจนถึงความอ่อนน้อมถ่อมตัว และเมตตาธรรม กุศโลบายในการกำราบศัตรูแล้ว ก็ทรงอภัยและให้โอกาศในการกลับตัว และตั้งให้เป็นเทพบริวารของท่าน ไม่ใช้วิธีการกำจัดหรือฆ่าล้างผลาญศัตรูให้ถึงแก่ชีวิต คุณธรรมในตัวของท่านที่แสดงออกเหล่านี้ จึงได้ทำให้พระคเนศวร์ได้รับการเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง ในอินเดีย จีน และหลายประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แต่องค์พระศิวะมหาเทพผู้สร้างและพระบิดาแห่งองค์พระพิฆเนศวร์ยังกล่าวว่า ไม่ว่าจะกระทำการสิ่งใดหรือทำพิธีบูชาใด ให้ทำการบูชาพระพิฆเนศวร์ ก่อนกระทำการทั้งปวง “ผู้ใด ต้องการความสำเร็จ ให้บูชาพระพิฆเนศวร์” “ผู้ใด ต้องการพ้นจากความขัดข้องทั้งปวง ให้บูชาพระพิฆเนศวร์

พระคเนศวร์ในฐานะผู้ลิขิตมหากาพย์มหาภารตยุทธ - มีตำนานที่กล่าวถึงสติปัญญาและไหวพริบของพระคเณศวร์ไว้หลายตอน เช่นเมื่อครั้งหนึ่ง มหาฤาษีวยาสะมีความต้องการที่จะเขียนมหากาพย์ภารตะ แต่เกรงว่าตนจะทำเองไม่สำเร็จ จึงไหว้วานให้ผู้อื่นช่วย แต่ไม่มีใครกล้าอาสาที่จะรับงานชิ้นนี้ ฤาษีนารอดเห็นว่าพระพิฆเณศวร์องค์เดียวเท่านั้นที่จะเขียนมหากาพย์ชิ้นนี้ได้ ในที่สุดฤาษีวยาสะจึงต้องทูลขอความช่วยเหลือจากพระคเณศวร์ พระคเณศวร์บอกว่า จะเขียนตามที่ฤาษีบอก แต่ทันทีที่ฤาษีหยุดบอกจะหยุดเขียนทันที ฝ่ายฤาษีบอกว่า สิ่งที่พูดออกไปจากปากของเรา ท่านต้องตีความให้ถ่องแท้ก่อนที่จะลงมือเขียน ฉะนั้นเมื่อฤาษีต้องการใช้ความคิดสำหรับโศลกต่อไปก็จะบอกศัพท์ยาก ๆ เพื่อให้พระคเณศวร์ตีความเสียก่อนเพื่อเป็นการประวิงเวลา พระพิฆเณศวร์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดอัจฉริยะในฐานะที่เป็นผู้ลิขิต มหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์มหากาพย์สุดยอดของฮินดู อย่างไรก็ตาม เรื่องมหากาพย์มหาภารตยุทธ์นี้ แน่นอน คงไม่มีใครเชื่อว่ามาจากฝีมือพระพิฆเณศวร์แน่ แต่นั่นเป็นภูมิปัญญาของปราชญ์โบราณที่ต้องการจะบอกกับคนในยุคสมัยต่อไปว่า การบูชาครูเพื่อขอดวงปัญญาในการทำงานให้ลุล่วงนั้น เป็นสิ่งสำคัญในลำดับแรก

พาหนะของพระคเนศวร์ หนูกับช้างเป็นสัญลักษณ์ของการพึ่งพาและปรองดอง ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจ และความมีชัยของฝ่ายที่อยู่เหนือกว่า ในทางมนุษยวิทยาแล้ว มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่าหนูกับช้าง เป็นสัญลักษณ์ของชนเผ่าสองกลุ่ม เผ่าที่มีชัยเหนือกว่าอาจจะเป็นชนกลุ่มที่นับถือช้างอยู่แต่เดิม จึงได้สร้างและยึดเอาประเพณีการนับถือช้างเป็นเทพเจ้า มาเป็นตัวแทนกลุ่ม หรืออีกอย่างที่เป็นไปได้คือ คนสมัยดั้งเดิมนั้นประกอบอาชีพทางด้านกสิกรรม และแน่นอน หนูย่อมเป็นศัตรูอันร้ายกาจของไร่นา ภาพที่แสดงออกในรูปของช้างและงูที่เป็นสังวาลนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ทำลายหนูอันเป็นศัตรูสำคัญของผลิตผลทางการเกษตรอย่างชัดเจน ทั้งการนำหนูมาเป็นบริวารนั้น เนื่องจากหนูขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว หนูได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความฉลาดและกัดทุกอย่างให้ขาดได้ ดังนั้นจึงเป็นความเหมาะสมสำหรับการเป็นพาหนะของเทพเจ้าแห่งปัญญา อันมีคุณสมบัติในการขจัดซึ่งอุปสรรค

วันคเณศจตุรถี การบูชาพระพิฆเณศวร์เรียกว่า “พิธีคเณศจตุรถี” มีความหมายว่า “พิธีอุทิศต่อพระคเณศวร์” จะกระทำวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ภัทรบท หรือเดือน ๑๐ ในวันที่ประกอบพิธีคเณศจตุรถีนั้น ประชาชนทั้งหลายจะพากันมาทำสักการะบูชา รูปเคารพของพระคเณศที่ปั้นด้วยดิน (เผา ) เครื่องบูชาจะประกอบไปด้วยดอกไม้ (โดยเฉพาะดอกไม้สีสดใส เช่น สีแดง, สีเหลือง, สีแสด) ขนมต้ม, มะพร้าวอ่อน, กล้วย, อ้อย, นมเปรี้ยว,(แบบแขก) ขณะทำการบูชา ผู้บูชาจะท่องพระนาม ๑๐๘ ของพระองค์ หลังจากการบูชาแล้วก็จะเชิญพวกพราหมณ์ ผู้ประกอบพิธีมาเลี้ยงดูกันให้อิ่มหนำสำราญ

พระคเณศวร์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้และปัญญายิ่งใหญ่ แต่ละส่วนของท่านให้ความหมายในเชิงปรัชญาได้ดังนี้ ๑.พระเศียร - ทรงใช้เศียรอันใหญ่ที่เต็มด้วยปัญญาความรู้ เป็นที่รวมแห่งปัญญาทั้งหมด ๒.พระกรรณ - ทรงใช้รับฟังคำสวดจากพระคัมภีร์และความรู้ในรูปอย่างอื่น ๆอันเป็นสิ่งแรกแห่งการศึกษา
๓. งวง - เราได้นำเอาความรู้ต่าง ๆที่ได้รับจากการเลือกเฟ้นระหว่างทวิลักษณะ ความผิด-ถูก ความดี-ความชั่ว อันมีงวงช้างที่ยาวและใหญ่ใช้ชั่งน้ำหนักต่อการกระทำหรือการค้นหาสิ่งที่ดีงามต่างๆ อันปัญญานั้นเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาของชีวิตให้หลุดพ้นจากอุปสรรค และพบกับความสำเร็จสมดั่งความมุ่งหมาย
๔.งา - งาข้างเดียวโดยอีกข้างหักนั้น เพื่อแสดงให้รู้ว่าจะต้องอยู่ในเหตุระหว่างความดี-ความชั่ว ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ดีถึงความแตกต่างกัน ดั่งเช่น ความเย็น-ความร้อน การเคารพ-การดูหมิ่นเหยียดหยาม ความซื่อสัตย์-ความคดโกง
๕.หนู - แสดงถึงความปรารถนาของมนุษย์ ,บ่วงบาศ - ทรงถือโดยทรงลากจูงคนทั้งหลายให้เดินตามรอยพระบาทของพระองค์
๖.ขวาน - เป็นอาวุธทรงใช้ปกป้องความชั่วร้ายและคอยขับไล่อุปสรรคทั้งหลายที่มาก่อกวนต่อบริวารของพระองค์
๗.ขนมโมทกะ - ข้าวสุกผสมน้ำตาลปั้นเป็นลูก เพื่อประทานให้เราเป็นรางวัลต่อการที่เราปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์
๘.ท่าประทานพร - หมายถึงการประทานความยิ่งใหญ่แห่งความผาสุกและความสำเร็จให้กับสาวกของพระองค์

คาถาบูชาพระคเนศวร์ : สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือ ผู้ที่จะสวดมนต์บูชาพระคเณศวร์ควรจะต้องทำปรันยัน(อาบน้ำชำระร่างกายหรือล้างมือล้างเท้า) ก่อนที่จะเริ่มสวดมนต์ โดยจะต้องทำปรันยันสามหนหรือมากกว่าก่อนที่จะสวด ต้องสวดมนต์อย่างน้อยให้ได้หนึ่งรอบของลูกประคำ (108ครั้ง) และจะต้องกำหนดชั่วโมงและสถานที่เพื่อการท่องสวดมนตร์ที่จะต้องทำติดต่อกันเป็นประจำ โดยต้องตั้งจิตให้แน่วแน่ประกอบสมาธิ อันจะนำมาซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และพลังแห่งอำนาจ
ข้อเตือนก็คือ ผู้บูชาจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงไม่เจ็บไข้ ในเวลาสวดมนตร์ และจะไม่กระทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
๑.โอมฺ คัม คณะปัตเย นะมะหะ : มนตร์นี้ได้มาจากพระคัมภีร์ คเณศวร์ อุปนิษัท ทุกๆครั้งจะต้องเริ่มต้นการสวดมนตร์นี้ก่อนออกเดินทาง หรือในการเริ่มต้นบทเรียนใหม่ หรือก่อนเริ่มต้นการทำสัญญาธุรกิจใหม่ ก็เพื่อขจัดอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จสมประสงค์
๒.โอมฺ นโม ภัควเต คชานนายะ นะมะหะ : มนตร์นี้เป็นมนตร์แห่งการกราบไหว้บูชา ที่พระคเณศวร์ทรงโปรดมาก
๓.โอมฺ ศรี คเณศายะ นะมะหะ : มนตร์นี้ส่วนมากจะต้องสั่งสอนให้เด็กๆท่องสวดเพื่ปัญญา ความเฉลียวฉลาดที่จะได้รับ เพิ่มพลังการจดจำและ ให้ผลสำเร็จในการสอบ การเล่าเรียน เช่นเดียวกันคนทั่ว ๆไปอาจใช้มนต์นี้ได้ เพื่อความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าในธุรกิจ
๔.โอมฺ วักรตุนทายะ ฮัม : เป็นมนตร์ที่มีอำนาจมากตามที่พรรณนาไว้ใน พระคเณศ ปุราณะ , เมื่อใดเกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้แล้ว หรือเกิดเหตุร้ายขึ้น ควรทำสมาธิรำลึกถึงพระคเณศวร์ด้วยการสวดมนตร์นี้ตลอดเวลา
๕.โอมฺ กษิปหะ ปรัสทายะ นะมะหะ : คำว่ากษิประ หมายความถึงความรวดเร็ว ถ้าหากว่าเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดบางสิ่งบางอย่างกับตัวท่าน หรือบางอย่างเกี่ยวกับธุรกิจการงานที่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรแล้ว ควรจะตั้งจิตมั่นบูชาพระคเณศวร์ด้วยการสวดมนตร์นี้โดยเร็ว เพื่อที่จะได้รับพรให้หลุดพ้นจากเรื่องร้ายหรือภัยที่ร้ายแรงได้
๖.โฮมฺ ศรีม ฮรีม กลีม คลัม คัม คณะปัตเย วร วรัท สรวะ ชันมัย วศัมนายะ สวาหา : ในมนตร์บทนี้มีพืชมนตร์อยู่มากมาย (พืช-เมล็ด) อันความหมายอย่างอื่นคือ "แสดงถึงการให้พรแห่งความสุขสำหรับตัวท่าน ข้าพเจ้าขอทูลถวายตัวเองเป็นทาสรับใช้พระคเณศวร์"
๗.โอมฺ สุมุขายะ นะมะหะ : มนตร์บทนี้หมายความว่า ท่านจะต้องมีจิตใจที่งาม มีวิญญาณอันบริสุทธิ์ ในความเป็นจริงในทุก ๆสิ่ง ด้วยการบูชาด้วยมนตร์นี้ ขอให้บังเกิดสิ่งที่ดีงามและของสวยงามมาสู่ยังตัวท่าน พร้อมด้วยความสุขสันติซึ่งมั่นคงติดแน่นในดวงตาของท่านไปนานแสนนาน และคำพูดทุกถ้อยคำซึ่งท่านได้พูดออกมา ขอให้เต็มไปด้วยพลังแห่งความรัก และเมตตา
๘.โอมฺ เอกทันตายะ นะมะหะเอกทันตะ : หมายถึงพระผู้ทรงมีงาเพียงข้างเดียวแห่งเศียรเป็นช้าง ซึ่งหมายความว่า พระองค์ทรงแบ่งแยกความดีและความชั่วออกเป็นสองฝ่ายและนำท่านไปสู่ความดี และเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ตลอดกาล ใครก็ตามที่มีจิตใจเป็นหนึ่งแน่วแน่ต่อการกราบไหว้บูชาแล้ว จะได้ผลบุญตามที่ตนเองที่ปรารถนาอยากได้
๙.โอมฺ กปิลายะ นะมะหะกปิล : หมายถึงว่าท่านสามารถที่จะแต่งเติมแต้มสีสันแห่งอายุรเวท ท่านสามารถสร้างสีสันรอบๆตัวท่านเอง และรอบผู้อื่นได้ด้วยมนตร์นี้ จงอาบน้ำชำระสิ่งทั้งหลาย และตบแต่งมันให้สวยงาม และเยียวยาให้ดีขึ้นได้ เพราะว่ามีอำนาจในมนตร์นี้ เมื่อใดที่ท่านต้องการ โดยเฉพาะอย่างในการรักษาผู้อื่นจะเป็นผลได้ในทันที
๑๐.โอมฺ สัมโพธรายะ นะมะหะ : หมายความว่าโลกทั้งหมดอยู่ในพระองค์ด้วยคำว่า "โอม"
๑๑.โอมฺ วิกตายะ นะมะหะ : หมายความว่าในความเป็นจริงของโลกใบนี้เหมือนความฝันหรือเป็นการเล่นละครเท่านั้น เมื่อมีความเข้าใจดีทุกอย่างว่า โลกทั้งหมดนี้ดูเหมือนความฝันโดยมีพวกเราทั้งหมดเป็นตัวแสดง โดยที่เราแสดงบทเป็นลูก เป็นพ่อ เป็นแม่ ในความฝันนี้เราอาจถูกงูเห่ากัดตาย แต่เมื่อตื่นขึ้นมาไม่เป็นอะไรเลย ชีวิตคือการแสดง ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเราพิจารณาเหมือนหนึ่งการเล่นละคร มนตร์นี้จะทำให้ผู้สวดเข้าใจดีถึงเรื่องราวทั้งหมด
๑๒.โอมฺ วิฆณะ นัษนายะ นะมะหะ : ในความเป็นจริงของทั้งหมด พระเจ้าทรงขจัดสิ่งกีดขวางหรืออุปสรรคทั้งหลายให้หมดสิ้นไปจากชีวิตเรา ด้วยความรู้แห่งมนตร์นี้อุปสรรคทั้งหมด และพลังอำนาจแห่งเครื่องกีดขวางทางทั้งหลาย ก็จะถูกทำลายลงไปได้

วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระอุปคุต , พระบัวเข็ม


พระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม ท่านเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธานุภาพมาก ที่ปรากฏตัวขึ้นในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อมารับหน้าที่คุ้มครองบริเวณพิธี ที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฏก จากการถูกรังควานจากพญามาร เชื่อกันว่าพระอุปคุตท่านเข้านิโรธสมาบัติอยู่ที่สะดือทะเล เมื่อในสมัยที่พระเจ้าอโศก ทรงโปรดให้มีการชำระพระศาสนา ด้วยเกรงจะมีความวิปลาสคลาดเคลื่อนในธรรมะ ( ที่อาศัยการท่องจำสืบต่อกันมา หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ) จึงโปรดให้อัญเชิญพระอรหันต์เถระชั้นผู้ใหญ่ ให้มาชุมนุมกันเพื่อตรวจทานและทำการจดบันทึก เรียบเรียงพระธรรมคำสอนออกเป็นหมวดหมู่ ที่เรียกว่าการสังคายนาพระไตรปิฏก ในขณะนั้นพญามารต้องการจะมาขัดขวางจึงได้มาแสดงฤทธิ์ เพื่อรบกวนไม่ให้สังคายนาได้สำเร็จ ด้วยเกรงว่าศาสนาพุทธจะเจริญรุ่งเรือง แล้วความชั่วร้ายก็จะอ่อนกำลังลง ณ ขณะนั้นเอง ในหมู่พระเถระที่มาร่วมพิธีก็ไม่มีรูปใดที่มีฤทธิ์มากพอที่จะต้านพญามารไว้ได้ จึงได้ประชุมกันเพื่อหาวิธีแก้ไข
จึงได้มีเณรน้อยรูปหนึ่งเตือนความจำทุกคนว่า ยังมีพระอรหันต์อีกรูปหนึ่งมีนามว่าพระอุปคุตเข้าสมาบัติอยู่ใต้ทะเล จึงได้ไปอัญเชิญท่านมาคุ้มครองพิธีนี้
เมื่อพระอุปคุตมาถึง จึงได้แสดงฤทธิ์เสกหมาเน่าไปแขวนคอพญามารไว้ให้ได้รับความอับอาย แม้จะไปหาทวยเทพ หรือแม้แต่พระพรหมผู้ที่ฤทธิ์มาก ก็ไม่อาจปลดหมาเน่าลงมาได้ จนพิธีผ่านพ้นไป พญามารได้สำนึกผิดแล้ว พระอุปคุตท่านจึงได้แสดงธรรมโปรดจนพญามารกลับใจตั้งจิตปรารถนาพุทธภูมิ จึงได้ปลดหมาเน่าลงมา
พุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสในองค์พระอุปคุต จึงนิยมที่จะสร้างรูปของท่านเป็นพระอรหันต์ที่นั่งบนดอกบัว หรือมีใบบัวปิดศรีษะ และมีรูปกุ้งหอยปูปลาอยู่ที่ฐาน นิยมแกะด้วยไม้โพธิ์ตายพรายที่ถูกฟ้าผ่าที่ชี้ไปทางทิศตะวันออก และยังนิยมฝังพระธาตุหรือตะกรุด ไว้ตามข้อต่อขององค์พระอีก ๙ จุด แล้วลงรัก ปิดทอง เป็นที่มาของอีกนามหนึ่งของท่านว่า พระบัวเข็ม
นอกจากนี้ท่านยังเป็นต้นกำเนิดของการตักบาตรเที่ยงคืน ในวัน " เป็งพุธ " ( วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ ) โดยเชื่อกันว่าในคืนวันเป็งพุธ พระอุปคุตท่านจะแปลงกายเป็นสามเณร ออกมาโปรดญาติโยม ผู้ที่โชคดีได้ใส่บาตรท่านในวันดังกล่าว จะประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต อุดมไปด้วยโภคทรัพย์ทั้งปวง จนกลายเป็นประเพณีนิยมกันในพม่า และ บางจังหวัดทางภาคเหนือของไทย

คาถาบูชาพระอุปคุต
อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร สัมพุทเธนะ วิยากะโต มารัญจะ มาระพะลัญจะ โส อิทานิ มะหาเถโร นะมัสสิตะวา ปะติฎฐิโต อะหัง วันทามิ อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะ มาหาเถรัง ยัง ยัง อุปัททะวัง ชาตัง วิธัง เสติ อะเสสะโต มะหาลาภัง ภะวันตุเม ฯ

(อธิษฐานบูชาพระอุปคุตเพื่อ คุ้มกันภยันตราย จาก ภัยพิบัติทั้งปวง และอธิษฐานขอลาภ )

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระเนื้อดิน


พระเนื้อดิน ส่วนใหญ่จะเป็นพระกรุที่สร้างจากเนื้อดินที่มีกรรมวิธีในการเตรียมมวลสารคือดินจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จากที่ที่มีความสำคัญทางศาสนาพุทธ เช่น ดินจากสังเวชนียสถานจากอินเดีย หรือดินจากวัดสำคัญ ๆ หรือมวลสารศักดิ์สิทธิ์อื่นเช่น ดินขุยปู ตะไคร่จากกำแพงโบสถ์ ผงตะไบจากการลงพระคาถาอักขระในแผ่นเงินแผ่นทอง (ตะกรุด) ผงตะไบพระศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่ผงจากพระเครื่องที่ชำรุด ผงจากการลบผงของคณาจารย์ต่าง ๆ ผงธูปจากวัดใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ ผงว่านหรือไม้ศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ นำมารวมกันเป็นมวลสารตั้งต้นแล้วหาฤกษ์งามยามดีทำการกดพิมพ์ ตากให้แห้ง สำเร็จเป็นพระเนื้อดิน แล้วทำการพุทธาภิเษกสมโภช แล้วบรรจุกรุ( ในเจดีย์หรือใต้ฐานพระประธานในโบสถ์ ) เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา และเก็บไว้ให้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลัง ต่อไป

พระยอดธง


พระยอดธง คือพระพุทธรูปที่ตรงส่วนฐาน มีเดือยยื่นออกมาเพื่อให้เสียบติดกับยอดธง เพื่อใช้ประดิษฐานที่ยอดธงที่ใช้ในการออกศึกสงคราม เพื่อความคุ้มครองให้กับกองทัพ ในการคุ้มครองภยันตราย จากข้าศึกศัตรู และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับไพร่พล และเป็นสัญลักษณ์ในการนำมาซึ่งชัยชนะในการศึก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการสร้างแล้ว พระยอดธงย่อมต้องผ่านพิธีพุทธาภิเษก จากพระภิกษุที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เข้มขลังของพุทธาคมในสมัยนั้น เพื่อนำชัยชนะ และคุ้มครองให้กับพระมหากษัตริย์ , แม่ทัพนายกอง , และไพร่พลทุกผู้ทุกคน .

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระสิงห์ ,พระพุทธสิหิงค์

พระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ คือพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ได้มีปรากฏบันทึกไว้ในชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าได้สร้างขึ้นตามคติของพุทธศาสนา แบบเถรวาทสายลังกาวงศ์ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ โดยพระเจ้าสีฬหะ แห่งลังกาทวีป โดยได้ร่วมพระทัยพร้อมกับพระอรหันต์ ด้วยหมายจะให้ได้พุทธลักษณะที่ตรงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง ๆ ถึงกับต้องอัญเชิญพญานาคที่เคยพบพระพุทธเจ้า มาแปลงร่างให้ดูเป็นต้นแบบในการปั้นหุ่นในครั้งนั้น


องค์พระพุทธสิหิงค์ที่สร้างขึ้นมีพุทธลักษณะที่งดงามมาก เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาปสาทะแก่ผู้ที่ได้พบเห็นให้ได้บังเกิดความเลื่อมใสเคารพบูชา จนพระโพธิรังสี ผู้รจนาตำนานพระพุทธสิหิงค์ ถึงกับได้กล่าวไว้ว่า

" พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด ก็เหมือนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นั้น "

" พระพุทธสิหิงค์เมื่อประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์ชีพ "

" พระพุทธสิหิงค์หามีชีวิตได้ก็จริง แต่มีอิทธานุภาพ ด้วยเหตุสามประการคือ ศาสนะพละของพระพุทธเจ้า , อธิษฐานพละ ของพระอรหันต์ และ อธิษฐานพละ ของพระเจ้าลังกา "

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระพุทธสิหิงค์ก็ได้ถูกอัญเชิญมาพร้อมกับพระไตรปิฏกจากลังกา โดยกษัตริย์ผู้ครองนครศรีธรรมราช และก็ได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย , กรุงศรีอยุธยา , กำแพงเพชร , เชียงราย , เชียงใหม่ ตามลำดับ จนมาถึงในรัชสมัยของพระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์ล้านนาที่มีพระราชภาระกิจในการไปปกครองล้านช้าง จึงได้อัญเชิญจากเชียงใหม่ไปประดิษฐาน ณ ล้านช้าง ( หลวงพระบาง ) ด้วย ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้อัญเชิญเสด็จกลับมาประดิษฐาน ณ กรุงศรีอยุธยา ในวัดพระศรีสรรเพชญ จนเมื่อครั้งเสียกรุง จึงได้ถูกพม่าอัญเชิญมาไว้ที่เชียงใหม่อีกครั้ง จนล่วงเลยมาถึงในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทได้โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในกรุงรัตนโกสินทร์

ปัจจุบัน พระพุทธสิหิงค์พระองค์นี้ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โดยในวันสงกรานต์ของทุกปี ได้มีการอัญเชิญเสด็จออกมาให้ประชาชนได้เคารพบูชาและสรงน้ำตามประเพณีเพื่อความเป็นศิริมงคล

ด้วยพุทธลักษณะอันงดงามจนยากที่จะหาพระพุทธรูปองค์อื่น มาเทียบเทียม เว้นเสียแต่พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก

และความศรัทธาในพุทธานุภาพ จนพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ได้บันทึกไว้ว่า

" ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจ ท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ถ้าได้มาจุดธูปเทียนบูชา และ นั่งนิ่ง ๆ มององค์พระสัก ๑๐ นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะ จะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีความหวัง "

คาถาบูชาพระพุทธสิหิงค์

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
(นำ) หันทะ มะยัง พุทธะปะสังสา คาถาโย พุทธะสิงหิงโค นามะ.........ภะณามะ เส.
(รับ) อิติ ปะวะระสิหิงโค อุตตะมะยะโสปิ เตโช.........ยัตถะ กัตถะ จิตโตโส สักกาโร อุปาโท.........สะกาละพุทธะสาสะนัง โชตะยันโตวะ ทีโป.........สุระนะเรหิ มะหิโต ธะระมาโนวะ พุทโธติ.

วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระชัยวัฒน์

พระชัยวัฒน์ หรือ พระชัย หรือ พระไชย ได้มีปรากฏ ในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า ว่าเป็นตำรับการสร้างของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ( และ สมเด็จ ฯ ท่านยังเป็นผู้รจนาพระคาถาพาหุงมหากา ถวาย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้ได้ทรงสวดสาธยายเป็นประจำ จนมีชัยชนะในการศึกมาตลอด ) โดยมีนัยยะ ว่า

" ปราบมาร ได้ชัยชนะ " ด้วยแต่เดิมมีความมุ่งหมายที่จะอัญเชิญ ไปในการเสด็จออกพระราชสงคราม ก็ได้มีการอัญเชิญให้ประดิษฐานทั้งทางเรือ และบนหลังช้าง ในยามที่ กองทัพออกศึกสงคราม
ต่อมาจึงมีการอัญเชิญพระชัยวัฒน์ มาในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีโสกันต์ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการสร้างพระชัยประจำรัชกาลต่าง ๆ และได้มีการอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง พระชัยวัฒน์ที่สร้างกันในภายหลัง ส่วนใหญ่จะนิยมสร้างให้มีขนาดเล็กกว่าพระกริ่ง โดยจะนิยมสร้างคู่กันกับพระกริ่ง เพื่อให้ผู้หญิง และ เด็ก ได้ห้อยบูชาได้ อีกประการหนึ่งก็เพื่อเป็นนัยยะแห่งชัยชนะ เพื่อเป็นขวัญ และ กำลังใจแก่ผู้บูชา

วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระกริ่ง

พระกริ่ง คือจักรพรรดิแห่งพระหล่อโลหะ เป็นองค์แทนของพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน ที่เชื่อกันว่า อานิสงส์ของการบูชาพระกริ่งพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าดังนี้

" ผู้ใดก็ดี ได้บูชาพระองค์ด้วยความเคารพเลื่อมใสแล้ว ก็จักเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปราศจากภัยบีฑา ไม่ฝันร้าย ศาสตราวุธ สัตว์ร้าย โจรภัย ยาพิษทั้งปวง ทำอันตรายมิได้ "

ความนับถือองค์พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า(พระกริ่ง ) ได้เริ่มต้นจาก จีน ธิเบต และได้ถูกเผยแพร่ ผ่านมายังญี่ปุ่น เกาหลี ไทย เวียดนาม และ เขมร ตามเส้นทางการเผยแพร่พุทธศาสนานิกายมหายาน
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงได้เริ่มมีการสร้างพระกริ่งปทุมของเขมรขึ้น ซึ่งกรรมวิธีและพิธีการในการสร้างพระกริ่งนั้น จัดเป็นการผสมผสาน เอา สุดยอดแห่งศาสตร์และศิลป์ ของไสยเวทย์ และ พุทธาคมเข้าด้วยกัน ,โดยจะต้องเริ่มต้นจากการจัดเตรียมมวลสารโลหะ ที่จะต้องนำมาลงยันต์ ๑๐๘ และ ปถมัง ๑๔ นะ แล้วจึงนำมาหลอม แล้วรีด จึงนำมาลงยันต์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภายใต้ฤกษ์ยามที่ได้ถูกคำนวนไว้อย่างเคร่งครัดในการหล่อและพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่ง และยังต้องปั้นหุ่นและเตรียมเม็ดกริ่ง ในองค์พระกริ่ง ซึ่งในกาลต่อมาเมื่อสืบทอดมาถึงท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช(แพ) ท่านได้รับสั่งว่า "กริ่ง" มาจากคำบาลี "กึ กุสโล " แปลว่าดับสนิทถึงพระนิพพาน นั้นเอง เพื่อเป็น สัญลักษณ์ แห่งพุทธภาวะ อันมีคุณลักษณะ อนาทิ จึงได้ทำเป็นเม็ดโลหะกลมบรรจุไว้ภายในองค์พระกริ่ง เมื่อเขย่าองค์พระได้ยินเสียงกริ่ง ก็จะเป็นกุศโลบายให้เจริญจิตอันเป็นสมาธิ ให้เข้าถึงพระนิพพาน และ อีกนัยหนึ่งเมื่อได้ยินเสียงกริ่ง ก็เท่ากับได้สดับพระนามของพระองค์ เพื่อยังความสวัสดีให้กับผู้ได้ฟังเสียงนั้น

พระคาถามหาธารณี (บูชาพระกริ่ง )
นะโม ภะคะวะเต ไภษัชยะคุรุ ไวฑูรยะประภาราชายะ ตะถาคะตะยาระทะเต สัมยาสัม พุทธายะ โอมไภเษชเย ไภเษชยะ สะมุรคะเต สวาหะ

ในหมวดนี้ จึงได้รวบรวมพระกริ่งทั้งพระกริ่งจีน , พระกริ่งไทย , พระกริ่งธิเบต , พระกริ่งเขมร มาเพื่อการศึกษาและสะสมของท่านผู้สนใจ (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในส่วนของบทความ )

วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระบูชา

พระบูชาที่มีขนาดหน้าตักเกิน ๑ นิ้วขึ้นไป มีทั้งพระบูชาไทย , พระบูชาจีน ,พระปิดตาบูชา , พระสังกัจจายน์บูชา , พระอุปคุต , พระโพธิสัตว์และเทพเจ้าต่าง ๆ เช่น เจ้าแม่กวนอิม , ไฉ่ซิงเอี้ย ,พระพิฆเนศวร์บูชา , พระยูไล ทั้งเก่าและใหม่ และยังมีทั้งเนื้อไม้ แกะสลัก ,เนื้อโลหะ , หินแกะสลัก และ อัญมณีแกะสลักเป็นทั้งพระสิงห์ ๑ , พระสังกัจจายน์ เป็นต้น .

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สวัสดีครับ

เราเป็นรสชาติของน้ำ
เราเป็นแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
เราเป็นคำว่า " โอม " แห่งพระเวททั้งปวง
เราเป็นเสียงในอากาศ
เราเป็นความเป็นคนในคน

(จาก ภควัทคีตา คัมภีร์แห่งผู้ยิ่งใหญ่ โดย
พระอาจารย์ อำนาจ สีลคุโณ แปล )

ยินดีต้อนรับมิตรสหายพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่าน ที่มีความยินดีปรีดาที่จะมาร่วมกันศึกษา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ในเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง ตะกรุด ของคณาจารย์ผู้เรืองเวทย์และทรงคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างขึ้นด้วยความเข้มขลังแห่งพุทธมนต์อันบริสุทธิ์และคงความศักดิ์สิทธิ์ผ่านยุคสมัยต่าง ๆ ที่มีทั้งยามเจริญรุ่งเรืองและยามศึกสงคราม อันนำมาซึ่งยุคทองและยุคเสื่อมของบ้านเมือง อันเป็นไปตามวัฒจักรของทางโลก ซึ่งท่านได้ใช้เวลาและความเพียรพยายามอดทนฝึกฝนทางจิตอย่างยิ่งยวดในการศึกษาเล่าเรียน และถ่ายทอดวิชากันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะต้องมีการรวบรวมวิชาจากหลายแขนงมารวมเข้าเป็นวัตถุมงคลแต่ละชิ้น ในพระเครื่องแต่ละองค์ หรือ ตะกรุดแต่ละดอก กว่าจะสร้างขึ้นมาได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในนั้นมีทั้งร่องรอยของประวัติศาสตร์ ศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์แห่งยุคสมัย ความยากลำบากในการรวบรวมมวลสารศักดิ์สิทธิ์ ขั้นตอนของการดั้นด้นไปฝากเนื้อฝากตัวกับคณาจารย์ต่าง ๆ เพื่อจะขอเรียนวิชาจากท่าน กาลเวลาและความยากลำบากที่ต้องใช้ในการฝึกฝนตนเอง พิธีกรรมที่ต้องตระเตรียม รวมไปทั้งฤกษ์ผานาทีที่ต้องใช้โหราศาสตร์ ในการคำนวน วัตถุประสงค์ในการสร้าง เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาไว้ป้องกันตัวในยามศึกสงคราม หรือ เพื่อระดมทุนในการสร้างวัดเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา แม้แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ถ้าเป็นพระเครื่องก็อาจมีการบรรจุกรุไว้ให้คนได้กราบไหว้ บูชา จนเวลาผ่านไปหลายร้อยหลายพันปี จึงมีการค้นพบ ก็จะมีเรื่องของคราบกรุต่างๆ ที่ต้องใช้การพิสูจน์หลักฐานเข้ามาร่วมพิจารณา ถ้าเป็นตะกรุด ก็จะมีการนำมาถักเชือกเส้นใยธรรมชาติเป็นลวดลายอันปราณีตวิจิตร แล้วนำไปจุ่มรัก ปิดทอง ล่องชาด เพื่อเป็นการรักษาตะกรุดไว้ให้อยู่ในสภาพดี ตกทอดมาให้ลูกหลานได้บูชา ซึ่งแต่ละสำนัก แต่ละคณาจารย์ก็จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เมื่อมาศึกษาให้ลึกซึ้งก็จะยิ่งสนุก ที่จะได้ค้นคว้าหาความจริง ว่า พระเครื่ององค์นี้ หรือตะกรุดดอกนี้ แท้ หรือ เก๊ และเป็นของสำนักไหน อายุประมาณเท่าไหร่ พุทธคุณ โดดเด่นในด้านไหน รวมทั้งความสนุกสนานที่จะได้พบปะพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่ชอบเหมือน ๆ กัน

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เพื่อน ๆ ที่ได้เข้ามาอ่าน จะได้รับประโยชน์ตามสมควร